การอภิปราย ของ การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2563

บทความนี้หรือส่วนนี้ของบทความต้องการปรับรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึง ต้องการจัดรูปแบบข้อความ จัดหน้า แบ่งหัวข้อ จัดลิงก์ภายใน และ/หรือการจัดระเบียบอื่น ๆ คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นปรับปรุงหรือจัดรูปแบบอื่น ๆ ในบทความให้เหมาะสม

24 กุมภาพันธ์

การพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 13:30 น. ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี วันแรกฝ่ายค้านใช้เวลา 11 ชั่วโมง 16 นาที โดยเสร็จสิ้นเมื่อเวลา 0:47 น. ของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ส่วนใหญ่เน้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเรื่องการบริหารประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน การเอื้อผลประโยชน์ให้กับเจ้าสัว และมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นผู้อภิปรายนายกรัฐมนตรีเป็นคนแรก โดยกล่าวหาว่าการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง ใช้อำนาจโดยมิชอบ ทำให้เกิดความล้มเหลว 5 ประการ คือ 1. การสร้างความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย 2. การบริหารราชการแผ่นดิน 3. การบริหารเศรษฐกิจของประเทศ 4. การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น และ 5. ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี[9]

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบโต้ว่าตนเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนมากกว่าฝ่ายค้าน ไม่มี ส.ว. เลือก และยืนยันว่าไม่เคยคิดล้มล้างประชาธิปไตย ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ก็มีเรื่องราวที่ทำให้รัฐบาลบริหารไม่ได้ ตนจึงต้องเข้ามา ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ ทุกคนก็ทราบดี และต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก รวมถึงปฏิเสธเรื่องการกลั่นแกล้งข้าราชการด้วยมาตรา 44 และกล่าวอีกว่าการสืบทอดอำนาจเป็นเรื่องของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ตนเพียงส่งความเห็น สำหรับการทุจริต ตนก็ทำด้วยเจตนารมณ์บริสุทธิ์ตามกฎหมายโดยไม่ก้าวล่วงอำนาจ อย่างไรก็ตาม ที่บอกว่าตนเอื้อประโยชน์ เป็นเพียงการวิเคราะห์ วิจารณ์ หรือคาดการณ์ โครงการประชานิยมก็ใช้แก้ปัญหาให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อย รวมถึงเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนซึ่งให้สัมปทานมา 30 ปีแล้ว ตนก็ต้องแก้ไขเพราะมีการฟ้อง ตนเป็นทหารจึงต้องรักษาสัตย์และจิตใจของตนเอง และเพื่อให้การอภิปรายเป็นประโยชน์ เมื่อชี้แจงก็ขอให้ฟังด้วย[10]

ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อภิปรายต่อภายใต้ 4 ข้อกล่าวหาหลัก คือ 1. มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ จากการพบความไม่สัมพันธ์ระหว่างรายรับและรายจ่ายที่ผิดปกติ และยังสงสัยในการขายที่ดินของ พ.อ.ประพัฒน์ จันทร์โอชา ให้กับ บริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งอาจเข้าข่ายฟอกเงินและเลี่ยงการตรวจสอบ 2. การต่ออายุการเช่าพื้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ให้กับบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเมนท์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด ออกไป 50 ปี โดยไม่เปิดประมูล ซึ่งอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 3. การต่ออายุสัมปทานของรถไฟฟ้าบีทีเอสให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระยะรวม 30 ปี จากเดิมที่คงเหลืออีก 10 ปี (ณ สิ้นปี พ.ศ. 2562) โดยออกคำสั่งผ่านมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 ถือเป็นการลัดขั้นตอนของ พรบ.ร่วมทุน จากระบุแนบท้ายคำสั่งว่าถือเป็นการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งเข้าข่ายฮั้วประมูล และ 4. ปัญหาระหว่างประเทศ จากการเอื้อประโยชน์ให้บุคคลที่มีคดีเกี่ยวกับการสังหารลูกเรือชาวจีนที่สามเหลี่ยมทองคำเลื่อนตำแหน่งและไม่ถูกดำเนินคดี[11]

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบโต้ในกรณีที่ 1 ว่าช่วงที่ที่ดินดังกล่าวมีการซื้อขาย ตนดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก และแย้งว่า ที่ดินดังกล่าวไม่ได้เป็นบ่อตกปลา แต่เป็นคลองหนามแดง เป็นลำรางสาธารณะ เป็นที่ดินติดถนน และเรื่องการซื้อขายเป็นเรื่องของคนขายกับคนซื้อ มีหลายรายติดต่อมา กระทั่งรายล่าสุดที่บิดาซื้อขายด้วย แต่ตนเองไม่รู้ว่าขณะนั้นผู้ซื้อเป็นใคร ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ไม่รู้ว่าจะไปเอื้อประโยชน์ใครในอนาคต พร้อมยืนยันว่าเสียภาษีถูกต้อง แจ้งบัญชีทรัพย์สินถูกต้องตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ทำตามกฎหมาย แต่กลับถูกพูดให้สับสนอลหม่าน[12]

วิษณุ เครืองาม และอุตตม สาวนายน ตอบโต้ในกรณีที่ 2 ว่าข้อมูลของยุทธพงศ์เป็นข้อมูลเก่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2557 ในยุคของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาแก้ไขสัญญา โดยอนุมัติให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี. ได้เช่าเป็นเวลา 50 ปี เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม และก่อนหน้านั้นมีการแก้ไข พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งใช้บังคับเมื่อเดือนเมษายนปีเดียวกัน ฉะนั้นการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ พ.ศ. 2544 ให้ความเห็นว่าการแก้ไขสัญญาเพื่อให้ผู้เช่ารายเดิมเช่าต่อ ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายร่วมทุน คณะรัฐมนตรีจึงได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อให้ชัดเจน เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560 กระทรวงการคลังได้หารือกับอัยการสูงสุดเพื่อตรวจข้อสัญญา และมีข้อสังเกต 4 ข้อ อีก 21 เดือนถัดมา รัฐบาลได้ตรวจร่างสัญญาตามที่อัยการแนะนำ และวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561 ได้ดำเนินการตามสัญญา จากนั้นอีก 3 เดือนได้ลงนาม เป็นขั้นตอนที่รัฐบาลฟังสำนักงานกฤษฎีกา อัยการสูงสุด ผ่านขั้นตอนหลายรัฐบาลและนำมาสู่บทสรุป[13]

อนุพงษ์ เผ่าจินดา ตอบโต้ในกรณีที่ 3 ว่าเหตุที่จำเป็นต้องมีการต่อสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสออกไป เนื่องจากเห็นว่าหากจ้างเดินรถเหมือนส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 อาจขาดทุน เพราะเส้นทางส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้าชานเมือง ประกอบกับถ้าเปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่ ค่าโดยสารอาจสูงเกินภาระของประชาชน ฉะนั้น การเจรจากับบีทีเอสจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด และต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะบีทีเอสต้องลงทุนด้านระบบรถไฟฟ้า พร้อมยืนยันว่าการขยายสัญญาสัมปทานครั้งนี้เป็นการขยายเพียง 30 ปีเท่านั้น โดยไม่รวม พ.ศ. 2562-2572 ที่เป็นสัมปทานเดิม[14]

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อภิปรายต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ บริหารเศรษฐกิจเพื่อนายทุน ไม่ได้เพิ่มความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP และอาจเป็นช่วงที่ประเทศเสียหายมากที่สุด ประชาชนไม่มั่นคงในชีวิต ส่วนใหญ่รายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ เกษตรกรตกต่ำจากนโยบายผลผลิตที่ไม่เข้าที่เข้าทาง เด็กจบใหม่ไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน ไม่มีความมั่นคงว่าจบมาตนจะมีงานทำ ข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหารก็ไม่มั่นคงในสินทรัพย์ อีกทั้งปัญหาบ้านพักข้าราชการซึ่งเป็นหนึ่งในชนวนเหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 ทั้งหมดนี้ส่อให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศคิดเป็น 99% คิดว่าตนไม่มั่นคงในชีวิต แต่อีก 1% กลับมั่งคั่งมากที่สุด และล้วนเป็นกลุ่มนายทุนและเจ้าสัว 5 อันดับแรกของไทย คือเจียรวนนท์ จิราธิวัฒน์ สิริวัฒนภักดี ศรีวัฒนประภา และปราสาททองโอสถ[15]

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ อภิปรายต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขาดความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจ มีจีดีพีร้อยละ 2 ถึง 4 และคาดว่าจะต่ำลงเนื่องจากโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 แม้จะพยายามบอกว่าเศรษฐกิจดี แต่ประชาชนไม่มีจะกิน จีดีพีขยายตัวไม่ได้เพราะขาดความเชื่อมั่น เกิดความเหลื่อมล้ำ ดัชนีผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องทุกรายการ และเป็นเดือนที่ 11 ต่ำสุดในรอบ 69 เดือน การส่งออกลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะค่าเงินบาทแข็งขึ้น ใช้จ่ายงบประมาณอย่างสิ้นเปลือง รวมถึงออกร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บภาษี กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการเตรียมกฎหมายขูดรีดภาษีกับผู้ทำธุรกิจออนไลน์ ตลอดจนการลดหย่อนภาษีให้คนใช้มาตรการ "ชิม ช็อป ใช้" ทั้งหมดทำให้ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ประเทศไทยติดกับดักสภาพคล่อง เศรษฐกิจไทยทรุด เงินติดหล่มอยู่ที่ธนาคารหมด นำออกมาใช้งานไม่ได้ ทางเดียวที่จะปลดล็อกทุกอย่างคือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกไปจากสมการก่อน ถึงค่อยเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน[16]

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบโต้ว่าภาพรวมประเทศไทยจีดีพีโตขึ้นอยู่ที่ 2.4% เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่โต 1.3% และสิงคโปร์ 0.5% พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งประชาชน มุ่งเน้นเรื่องการดูแลอนาคต มีการประกันรายได้สินค้าเกษตรทุกประเภท มีความพยายามกระตุ้นการส่งออก หรือแม้แต่โครงการชิม ช้อป ใช้ ประชาชนก็ให้การตอบรับดี ดังนั้นฝ่ายค้านอย่ายกส่วนที่ไม่ดีมาพูดเพียงอย่างเดียว ขอให้ฟังข้อเท็จจริงที่พูดบ้าง รวมถึงกรณีโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 รัฐบาลยืนยันว่ามีการเตรียมพร้อมหากประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่ระยะที่ 3 เพียงแต่ไม่อยากให้ประชาชนแตกตื่น และการทำแบบประเทศจีนแม้ตนมองว่าเป็นแนวทางที่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้เนื่องจากระบบการปกครองของจีนกับไทยแตกต่างกัน[17]

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ตอบโต้เพิ่มเติมว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมเติบโต แต่ก็ยอมรับว่ายังกระจายเศรษฐกิจไม่ดีพอโดยเฉพาะการขยายถึงระดับรากหญ้า เพราะผลผลิตและบริการมีราคาต่ำ เกษตรกรมีรายได้ต่ำ แรงงานไม่สามารถขึ้นค่าแรงได้ เนื่องจากเอกชนไม่กล้าลงทุน ทางลัดคือต้องเน้นการส่งออกแทน โดยมีบีโอไอเป็นแรงจูงใจ บริษัทใหญ่จึงได้ประโยชน์ แต่ความเจริญกลับไปถึงรากหญ้าได้ไม่เร็วพอ จึงเกิดช่วงห่างระหว่างนายทุนกับรากหญ้าค่อนข้างมาก เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐบาลจึงผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อดึงดูดให้เอกชนร่วมลงทุน นอกจากนี้รัฐบาลยังลงทุนเรื่องดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น 5 จี ภายในปีนี้ เพราะถ้าปีนี้เราไม่มี 5 จี และเวียดนามมี 5 จี ก่อน เศรษฐกิจไทยจะยิ่งเสียหายมากขึ้น รวมถึง National E-Payment E-Government อันเป็นผลงานชิ้นใหญ่สุดของรัฐบาล ช่วยให้รัฐบาลส่งเงินแบบรัฐต่อรัฐและประชาชนได้อย่างโปร่งใสและไม่มีคอรัปชั่น ส่วนกรณีที่พิธาพูดถึงเรื่องเกษตรกร สมคิดยอมรับว่าดีใจที่พูดถึง เพราะรัฐบาลรู้ดีว่ายังไม่เอาจริงเอาจังกับการปฏิรูปเกษตร ที่ผ่านมาทำได้แค่รับจำนำกับประกันราคาเท่านั้น ถ้าไม่มีการลงทุน ต่อเครื่องจักรเข้าชุมชน ต่อนักท่องเที่ยวเข้าชุมชนผ่านชิม ช้อป ใช้ เศรษฐกิจก็จะไม่เดินหน้า ตนจึงมีแนวคิด "ประชารัฐสร้างไทย" โดยไม่เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในชุมชนอันจะเป็นการพัฒนาจีดีพีของประเทศต่อไป[18]

มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ อภิปรายตอบโต้ต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ บริหารระบบเศรษฐกิจของประเทศผิดพลาดอย่างรุนแรง จากผลสำรวจสินทรัพย์ของประชาชน พบว่า กว่า 50% ฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ไม่ถึง 3,000 บาท และหนี้สินครัวเรือนโตขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 340,000 บาทต่อครัวเรือน คิดเป็นหนี้ในระบบ 59.2% และหนี้นอกระบบร้อยละ 40.8% รวมถึงกรณีที่โรงงานขอเลิกกิจการตลอดปี พ.ศ. 2562 และหลายครอบครัวตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยมีภาวะเศรษฐกิจและหนี้สินเป็นแรงจูงใจ เมื่อเทียบกรณีวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 พบว่าวิกฤตในปัจจุบันสูงกว่าเมื่อครั้งนั้นถึง 85% เหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 1 ของโลก มีเพียงร้อยละ 1 จาก 5 ตระกูลเศรษฐีเท่านั้นที่มั่งคั่ง และยังกล่าวหาถึงกรณีการจัดระเบียบทางเท้าในกรุงเทพมหานคร แม้ตนมองว่าเป็นแนวทางที่ดี แต่ทำให้เสน่ห์ของไทยอย่าง Street Food ที่ถูกยกย่องให้เป็นอันดับ 1 ของโลกนั้นต้องสูญหายไป[19]

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบโต้เพิ่มเติมว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องกลไกเศรษฐกิจ และข้อกฎหมายที่เป็นปัญหา แต่ปัจจุบันการผลักดันนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องทำเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการลงทุนเพื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยก็พยายามเชื่อมโยงเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มการค้า การลงทุนชายแดน และการท่องเที่ยว และทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลาง ศูนย์รวมกระจายสินค้าของเอเชีย และต้องขอบคุณคำแนะนำจากคุณมิ่งขวัญ แต่การจะทำอะไรต่าง ๆ ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย

อุตตม ตอบโต้กรณีความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มว่า ประเทศไทยไม่ได้เหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 1 ของโลกตามรายงานของธนาคารโลก เนื่องจากยังไม่ใช้วิธีการวัดที่ทันสมัย แต่ย้ำว่าต้องแก้ไขต่อไป หนี้ครัวเรือนไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา 47% เกี่ยวกับที่อยู่และพาหนะซึ่งเป็นหนี้คุณภาพ 18% เกี่ยวกับอาชีพซึ่งก่อประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจ และอีก 35% เป็นหนี้อื่น ๆ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ดูแลค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการประชารัฐ ออกมาตรการชิม ช้อป ใช้ และยังลดต้นทุนการผลิตเก็บเกี่ยวให้กับเกษตรกร ดูแลรายได้ การท่องเที่ยว ชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 สินเชื่อพิเศษเข้าถึงที่อยู่ ทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกรณีการเข้าพบผู้อำนวยการกองทุน IMF และได้รับคำแนะนำให้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นเรื่องจำเป็น โดยจากการพิจารณาการคลังพบว่ารัฐบาลดำเนินการได้ทันที[20]

พิจารณ์ เชาวพัฒนพงศ์ อภิปรายปิดท้ายก่อนการพักการประชุม โดยกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านระบอบทุนนิยม ผ่าน 3 ข้อกล่าวหาหลัก คือ 1. อนุมัติการสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง บนถนนเจริญนคร ในพื้นที่ 35 ตารางกิโลเมตรนับจากจุดกึ่งกลางเกาะรัตนโกสินทร์ จากมติคณะรัฐมนตรีที่บังคับให้รถไฟฟ้าทุกประเภทในพื้นที่นี้ต้องลงใต้ดิน ให้สร้างลอยฟ้าได้ ภายหลังจากที่ห้างสรรพสินค้าที่ได้ประโยชน์ (ไอคอนสยาม) ได้ประชาสัมพันธ์ว่าจะมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านล่วงหน้า 2 ปี รวมถึงกล่าวหาในการอนุมัติให้ห้างสรรพสินค้าดังกล่าวซื้อสัมปทานโฆษณาล่วงหน้าด้วยเงิน 2,080 ล้านบาทโดยไม่เปิดประมูล รวมถึงอนุมัติให้กรุงเทพมหานครทำสัญญากับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้เดินรถนาน 30 ปี วงเงิน 13,520 ล้านบาท และอนุมัติให้ห้างสรรพสินค้าดังกล่าวสร้างหอชมเมืองบนพื้นที่ราชพัสดุ 4 ไร่ โดยเช่าที่ดินในราคาถูกกว่าที่ประเมิน และประชาชนต้องเข้าหอชมเมืองผ่านห้างสรรพสินค้าดังกล่าว 2. อนุมัติให้ยืดการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz ผ่านมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยแลกกับการรับการจัดสรรคลื่น 700 MHz ในราคารวม 52,752 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับการประมูลคลื่นความถี่ที่มีมูลค่าสูงถึง 4 เท่า ทำให้รัฐสูญรายได้ไปกว่า 153,084 ล้านบาท[21] 3. การประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยรวมโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้าไปด้วย ทำให้เหลือเอกชนเข้าประมูลเพียง 2 กิจการร่วมค้าที่เป็นการรวมตัวของเอกชนเพียง 8 ราย จากเอกชนที่เข้าซื้อซองประมูลทั้งหมด 31 ราย ด้วยความกังวลในเรื่องคุณสมบัติของผู้เข้าประมูล รวมถึงการไม่ประมูลแยกกัน ทำให้รัฐได้ผลตอบแทนน้อยลง และการแก้สัญญาในภายหลังโดยลดค่าปรับกรณีส่งมอบงานล่าช้ากว่า 60% ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุนลดลง[22]

จากนั้น ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งพักการประชุมสภาเป็นระยะเวลา 8 ชั่วโมง 43 นาที โดยให้เริ่มประชุมอีกครั้งในเวลา 9.30 น.

25 กุมภาพันธ์

ใกล้เคียง

การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย มีนาคม พ.ศ. 2554 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย สิงหาคม–กันยายน พ.ศ. 2564 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2565 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2552 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2553 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2563 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2555 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2564

แหล่งที่มา

WikiPedia: การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2563 http://voicetv.co.th/read/GgA5Pqsqo https://thestandard.co/distrust-debate-31jan63/ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/864451 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/867694 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/867699 https://www.bbc.com/thai/thailand-51609540 https://www.facebook.com/WorkpointNews/photos/a.15... https://mgronline.com/politics/detail/963000001866... https://www.naewna.com/politic/475204 https://www.posttoday.com/politic/news/612260